top of page

บทความ

ความรู้ ข่าวสาร ที่นักธุรกิจต้องรู้

ส่งตรงจากจีน

เรื่องของหมู่บ้านเสี่ยวกัง จุดเริ่มความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน



โมเดลการผลิตของหมู่บ้านเสี่ยวกัง จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน

มีการวิเคราะห์ย้อนหลังเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนในยุคปัจจุบันจากหลายเหตุการณ์ และหลายปัจจัยต่างๆ ส่วนใหญ่แล้ว มักถือกันว่าความรุ่งโรจน์เริ่มขึ้นตั้งแต่การประกาศแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีของเติ้งเสี่ยวผิงตั้งแต่ปลายยุค 80 ต่อเนื่องมาถึงต้นยุค 90 รวมถึงการผลักดันนโยบายนี้ของ เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่สาม

แต่อันที่จริง มีจุดเริ่มต้นเล็กๆจากการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการผลิตในระดับครัวเรือนในช่วงปี 1978 ซึ่งถือว่าเป็นตำนานของการผลิตระดับครัวเรือของจีนก็ว่าได้ ซึ่งที่น่าทึ่งคือ มันไม่ได้มาจากความคิดของผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือมาจากอำนาจของภาครัฐ แต่เริ่มต้นมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง

ใน ค.ศ. 1978 ชาวบ้านในหมู่บ้านเสี่ยวกัง อำเภอเฟิ่งหยาง มณฑลอันฮุย ที่แถบนั้นมีปัญหาในด้านการเพาะปลูกมานานมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ปัญหาในเรื่องผิวดิน น้ำท่วม ผลผลิตที่ตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านต้องพบความยากลำบากมาก

แล้วในปีนั้น ชาวบ้านเสี่ยวกังก็เกิดความคิดว่า “ให้แต่ละครัวเรือนรับผิดชอบผลกำไรขาดทุนกันเอาเอง” ซึ่งอันที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายของจีนในเวลานั้น เนื่องจากมีประกาศในปีนั้นว่าระบบการผลิตต้องใช้แบบรวมกลุ่ม แต่ชาวบ้านเห็นว่าวิธีนี้มันไม่ได้ผล พวกเขาจึงตัดสินใจเสี่ยงทำผิดกฎหมาย แต่ก็มีข้อตกลงกันว่า “ถ้าบ้านใดโดนจับตัวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบว่าทำผิด ชาวบ้านที่เหลือจะต้องช่วยกันดูแลลูกหลานของคนที่ถูกจับ”

ข้อตกลงเช่นนี้ ทำให้แต่ละครัวเรือนไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง สามารถทุ่มเทการผลิตและเพาะปลูกของตนเองได้เต็มที่ แม้ดูผิวเผินแล้ว แนวคิดนี้จะเป็นแบบตัวใครตัวมัน ดูแลผลกำไรขาดทุนกันเอง แต่เพราะการมีข้อตกลงที่จะไม่ทอดทิ้งลูกหลานของเพื่อนบ้าน ก็ทำให้ผู้ที่ใช้แรงงานพร้อมทุ่มเทกำลังกับการเพาะปลูกและสร้างผลผลิตของตนเองได้เต็มกำลัง

ผ่านไปหนึ่งปีนับตั้งแต่ใช้ระบบนี้ ชาวบ้านเสี่ยวกังสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว แก้ไขปัญหาอดอยากได้

ฝ่ายภาครัฐก็ตรวจสอบพบชาวบ้านกระทำดังนี้ ก็ไม่ได้เอาผิด อีกทั้งในปีถัดมา เมื่อเห็นว่าแนวคิดนี้ได้ผลสำหรับหมู่บ้านที่ยากไร้ จึงประกาศให้ชาวบ้านที่ยากจนสามารถใช้ระบบนี้ได้ จากนั้นในปี 1981 จึงส่งเสริมให้ใช้ระบบนี้ไปทั่วประเทศ ทำให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยมีกินมีใช้มากขึ้น

แม้ว่าจะเป็นโมเดลเล็กๆ แต่มันส่งผลในทศวรรษถัดมา เมื่อผลผลิตอาหารต่อประชากรเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว โดยในระหว่างปี 1952-1978 ผลผลิตการเกษตรอยู่ที่ 2.9% ต่อการเติบโตของประชากร 2% เมื่อถึงระหว่าง 1978-1984 ผลผลิตการเกษตรอยู่ที่ 7.7% ต่อการเติบโตของประชากร 1.3% เท่ากับว่าผลผลิตด้านอาหารเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากนั้นจึงได้นำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มกำลังผลิตด้านอื่นต่อไป

แม้ว่าปัจจุบัน โมเดลนี้จะยังไม่ได้รับการยืนยันว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนยุคใหม่เช่นไร แต่ผลจากที่เกิดขึ้นคือ มันทำให้ผลผลิตด้านอาหารต่อประชากรสูงขึ้นจนภาครัฐสามารถหันไปเพิ่มการผลิตด้านอื่นที่ขาดแคลนอยู่ได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เรื่องราวของหมู่บ้านเสี่ยวกังได้รับการพูดถึงและถูกสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์อยู่ที่มณฑลอันฮุย

#คิดถึงการตลาดจีน คิดถึง Level Up Thailand#


Basic Chinese Knowledge

Chinese Tourism

Kol influencer

China social media & online marketing

China ecommerce

บทความแนะนำ

บริการของเรา

bottom of page