top of page

บทความ

ความรู้ ข่าวสาร ที่นักธุรกิจต้องรู้

ส่งตรงจากจีน

เทศกาล 11.11 ผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายทะลุ 498 พันล้านหยวน

หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าในช่วงหลายเดือนมานี้บรรดาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซหลาย ๆ เจ้ามักจัดเทศกาลให้สอดคล้องกับวันที่หรือวันสำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งถ้าเขียนเป็นตัวเลขจะออกมาเป็น 11.11 ย่อมไม่พลาดที่ธุรกิจเหล่านี้จะเลือกสร้างแคมเปญเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ จนเกิดสถิติด้านตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อน ๆ แบบเทียบไม่ติด

เรื่องนี้น่าสนใจและอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะมันกำลังบ่งบอกว่าช่วงเวลาของธุรกิจออนไลน์กำลังเกิดและเติบโตแบบเต็มตัว หลายแบรนด์ดังต้องหันมาพึ่งพาบรรดาอี-คอมเมิร์ซมากขึ้นเรื่อง ๆ รวมถึงใครที่อยากทำยอดขายให้พุ่งทะลุเป้าต้องรู้จักนำเอาความพิเศษมานำเสนอให้ลูกค้าสนใจ


ยอดขายอี-คอมเมิร์ซจีนพุ่งกระฉูดจากแคมเปญ 11.11

มีรายงานจาก South China Moring Post ระบุว่า บรรดาผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายเงินรวมกันกว่า 498 พันล้านหยวน (ราว 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในช่วงแคมเปญ 11.11 ที่ผ่านมา (ในประเทศจีนวันนี้ถือเป็นวันคนโสดด้วย) บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซค้าปลีกออนไลน์ของอาลีบาบา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้ทำลายสถิติเทศกาลช็อปปิ้งที่ใหญ่สุดในโลกไปเรียบร้อย

โดยจำนวนเงินดังกล่าวมีการวัดจากปริมาณสินค้ารวม (GMV) และเทียบกับยอดขายสูงสุดเมื่อปีก่อนหน้าที่ 268.4 พันล้านหยวน ในช่วงแคมเปญ 24 ชม. เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน

สำหรับเทศกาลช็อปปิ้งที่ใหญ่สุดในโลกครั้งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องการให้ส่วนลดจำนวนมากกับสินค้าทุกประเภท ไล่เรียงกันตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงบรรดาสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ มีแบรนด์เข้าร่วมแคมเปญนี้กว่า 470 แบรนด์ รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ในวงการสมาร์ทโฟนอย่าง Apple, Huawei Technologies, Xiaomi Corp ผู้จัดจำหน่ายเสื้อผ้าและสินค้ากีฬา Nike, Adidas แบรนด์เกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณ อาทิ L’Oréal, Estée, Lauder, Lancôme ซึ่งแต่ละรายมียอดขาย GMV ทะลุ 100 ล้านหยวน บนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา

ขณะที่ Suning.com ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของจีนรายงานว่า ทุกช่องทางบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของตนเอง อาทิ T-mall และบรรดาการขายแบบสตรีมมิ่งสด มีรายรับทะลุ 5 พันล้านหยวน ภายในเวลา 19 นาที หลังตอนเที่ยงคืนของวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้นแคมเปญดังกล่าว


จำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมดใน JD.com ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน มียอดขายทะลุ 271 พันล้านหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่ทางบริษัทได้ระบุออกมา ซึ่งตรงนี้มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของ JD.com ระบุว่าการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะยอดขายสมาร์ทโนแบบ 5G บนแพลตฟอร์มของเขานั้นสูงขึ้น 11 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการเริ่มต้นทำแคมเปญมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน


มีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องทำให้อี-คอมเมิร์ซมียอดขายพุ่งสูง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจไม่ใช่แค่เรื่องของการลดราคา หรือการมีโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ทางแบรนด์และแพลตฟอร์มทำให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญในการสร้างปริมาณยอดขายที่สูงระดับนี้มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้คนเปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้คนเองก็เริ่มหันมาช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้นแล้ว คราวนี้เมื่อบวกกับทั้งแคมเปญดี ๆ เรื่องราคา คนไม่สามารถออกไปซื้อของที่ไหนได้ตามใจชอบ การสั่งสินค้าออนไลน์จึงกลายเป็นทางเลือกอันดับ 1 ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง


ทุกแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ต่างขานรับกับแคมเปญ 11.11

มีการเทียบสถิติการทำธุรกรรมต่อวินาทีสูงสุดอยู่ที่ 583,000 ครั้งในปีนี้ (ข้อมูลจากอาลีบาบา) เมื่อถึงเวลาที่แคมเปญ 11.11 เริ่มต้นขึ้น ตรงนี้ต้องยอมรับว่าเทศกาล 11.11 หรือที่คนจีนจะถือเป็นวันคนโสด มีส่วนร่วมกับการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว โดยแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น JD.com, Suning.com และ Vipshop รวมถึงแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ๆ เช่น Douyin และ Kuaishou ต่างก็มีส่วนร่วมในเทศกาลนี้ด้วย


ยังมีอีกสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับแคมเปญ 11.11 ในปีนี้ อันถือเป็นครั้งแรกในการใช้วิธีสตรีมมิ่งสด และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นวิธีใหม่เพื่อให้ลูกค้าได้มองเห็นสินค้าบนโลกออนไลน์จริงแล้วค่อยตัดสินใจซื้อ มีช่องสตรีมมิ่งสดกว่า 30 ช่อง ใน Taobao Live ซึ่งแต่ละช่องสร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวน ของ GMV


ปิดท้ายด้วยการยืนยันจากอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนรายหนึ่งว่ายอดขายของแพลตฟอร์มนี้พุ่งสูงขึ้นในจีนเป็นอย่างมาก ตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้าน โดยยอดขายปลีกออนไลน์ครึ่งปีแรกของจีนอยู่ที่ 5.15 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึง 7.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ของจีน

Comments


Basic Chinese Knowledge

Chinese Tourism

Kol influencer