top of page

บทความ

ความรู้ ข่าวสาร ที่นักธุรกิจต้องรู้

ส่งตรงจากจีน

ย้อนรอยจีน สงครามฝุ่น Pm2.5 ที่ปักกิ่ง

ก่อนหน้านี้มีรายงานเกี่ยวกับความสำเร็จขั้นแรกของจีนด้านการแก้ปัญหามลภาวะเป็นพิษทางอากาศ โดยความสำเร็จดังกล่าวคือการฟื้นฟูสภาพอากาศและท้องฟ้าของกรุงปักกิ่งซึ่งเคยประสบปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปี ให้กลับมามีท้องฟ้าที่เริ่มโปร่งขึ้นอีกครั้ง

แม้ว่าเซี่ยงไฮ้ เมืองสำคัญของจีนจะขึ้นมาติดอันดับ 8-9 ของเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศและฝุ่นควันมากที่สุดในโลก แต่สถานการณ์ที่ปักกิ่งก็ดีขึ้นมาก ดังนั้นมาลองดูว่าทำไมปักกิ่งถึงทำได้สำเร็จ แล้วมีปัจจัยเสริมกับวิธีการอย่างไรบ้าง


ฝุ่นละอองทางเหนือของจีน

ตามรายงานการวิจัยที่เคยมีการประกาศออกมาในปี 2014 มีการศึกษาและระบุแหล่งที่มาหลักของฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมลภาวะในกรุงปักกิ่งว่ามาจากสาเหตุต่างๆ ต่อไปนี้

· ท่อไอเสียรถยนต์

· การเผาถ่านหิน

· การทำงานของโรงงานในภาคอุตสาหกรรม

· ฝุ่นละอองจากธรรมชาติ

· สาเหตุอื่นๆ

นอกจากนี้การอ้างอิงจากข้อมูลจากกรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ณ กรุงปักกิ่ง มีค่าเฉลี่ยสูงถึงกว่า 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่สูงกว่าระดับความปลอดภัยที่ถูกกำหนดไว้โดยองค์การอนามัยโลก

ดังนั้นโครงการต่าง ๆ เพื่อหาทางลดฝุ่นละอองลง จึงริเริ่มขึ้น โดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว


สั่งปิดโรงงานทางเหนือ

เนื่องจากก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยเห็นการแชร์รูปภาพท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่งที่มีลักษณะของหมอกควันที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองปกคลุมอยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ซึ่งถ้าเป็นคนที่เคยเดินทางไปปักกิ่งในช่วง 4-5 ปีหลังจะพบปัญหานี้

สำหรับสาเหตุหลักนั้น เชื่อว่ามาจากการก่อมลภาวะของโรงงานจำนวนมากที่ตั้งเรียงรายอยู่ทางภาคเหนือ และเป็นปัญหาที่เรื้อรังสะสมมานาน

เพื่อแก้ปัญหานี้ ที่ผ่านมาทางรัฐบาลจีนจึงได้มีการสั่งปิดโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษและไม่ผ่านเกณฑ์รวมแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ถือว่าเป็นเฟสแรกของโครงการ

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งให้โรงงานต่าง ๆ หันมาใช้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทางการจีนเล็งเห็นว่าเป็นอนาคตของพลังงานแบบทางเลือกจากธรรมชาติ


ปลูกป่าเพิ่มเติมครั้งใหญ่

จีนได้ริเริ่มโครงการปลูกป่า ซึ่งเรียกว่าการสร้าง “กำแพงเมืองจีนสีเขียว” เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งทางสหประชาชาติเรียกว่า สงครามปลูกป่าครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับป่าที่ถูกสร้างในจีนนั้นครอบคลุมพื้นที่กว่า 70,000 ตร.กม. มีอาณาเขตกว้างใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศส และในยังวางแผนจะปลูกเพิ่มอีกทางเหนือของกรุงปักกิ่งประมาณ 84,000 ตร.กม.

มีการวิจัยพบว่า การปลูกป่าอาจช่วยขจัดสารก่อมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นสารไนตริกออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมไปถึง PM2.5 เพราะใบไม้มีคุณสมบัติเป็นเหมือนฟิลเตอร์ที่สามารถช่วยกรองอากาศได้

อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้ครั้งใหญ่อาจกลายเป็นส่วนที่บังลมไว้ ทำให้ฝุ่นควันไม่กระจายออกไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาก่อนที่จะทำให้สภาพในปักกิ่งมีฝุ่นที่ลดลงมาจากเดิม เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การปลูกป่าก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำในท้ายที่สุด


ลดบทบาทของเมืองหลวงปักกิ่ง และกระจายธุรกิจ

อีกหนทางในการแก้ไขปัญหามลพิษดังกล่าว คือการกระจายสาขาธุรกิจที่เห็นว่าจำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของเมืองหลวงปักกิ่ง (Non-capital functions)

ตัวอย่างเช่น ตลาดขายส่งเสื้อผ้า ผักและผลไม้ โรงงานถ่านหิน จัดการถ่านหินด้อยคุณภาพในเขตชนบท ไปจนถึงมีคำสั่งโอนย้ายและสั่งปิดบริษัทและโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษและไม่ผ่านเกณฑ์ รวมแล้วกว่า 1,000 แห่ง ตามเป้าหมายในเฟสแรก


บังคับใช้กฎหมาย

ทางกรุงปักกิ่งได้มีการเริ่มใช้กฎหมาย ว่าด้วยภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2018

โดยกฎหมายดังกล่าว ได้มีการประกาศใช้ให้กับมณฑลต่าง ๆ ของจีน สำหรับประกาศให้เป็นมาตรฐานในการเก็บภาษีดังกล่าว

สำหรับกรุงปักกิ่งและมณฑลข้างเคียง ก็มีการกำหนดอัตราภาษีในระดับที่สูง โดยปักกิ่งกำหนดให้เก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา 12 หยวนต่อหน่วย ของการปล่อยมลพิษทางอากาศ และอัตรา 14 หยวนต่อหน่วย สำหรับมลพิษทางน้ำ

หลังจากดำเนินมาตรการทั้งหมด กรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงปักกิ่งก็ได้ตรวจสอบแล้วระบุว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา ระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ต่อปี

เท่ากับว่าทางปักกิ่งได้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่เฟสแรกของโครงการคืนสภาพอากาศและท้องฟ้าปลอดโปร่งที่บริสุทธิ์ให้กับเมืองจีนเท่านั้น

ทั้งนี้ จีนมีเป้าหมายในเฟสต่อไปคือต้องการลดความเข้มข้นของ PM2.5 ให้ต่ำลงกว่าเฉลี่ย 56µg/m3 ต่อปี



Basic Chinese Knowledge

Chinese Tourism

Kol influencer

China social media & online marketing

China ecommerce

บทความแนะนำ

บริการของเรา

bottom of page