top of page

บทความ

ความรู้ ข่าวสาร ที่นักธุรกิจต้องรู้

ส่งตรงจากจีน

หม่า ฮั่วเถิง จากคนธรรมดาสู่เศรษฐีพันล้าน เพราะความสามารถและการไม่หยุดลงมือทำ

หม่า ฮั่วเถิง เจ้าของธุรกิจ Tencent
หม่า ฮั่วเถิง เจ้าของธุรกิจ Tencent

มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศจีน ซึ่งเป็นรองเพียงแค่ แจ๊ค หม่า คนเดียวเท่านั้น ชายคนนี้มีชื่อว่า “หม่า ฮั่วเถิง” หรือถ้าเรียกแบบน่ารัก ๆ ในภาษาอังกฤษเจ้าตัวขอให้เรียก “โพนี่ หม่า” แต่ไม่ว่าเขาจะชื่ออะไรเรื่องที่น่าสนใจกว่าคือ ชายคนนี้จัดเป็นบุคคลที่รวยสุดเป็นอันดับ 2 ของเมืองจีนจากการจัดอันดับในปี 2019 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินต่าง ๆ ราว 56.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตีเป็นเงินไทยก็ไม่มากไม่มายราว 1,700 กว่าล้านบาทเท่านั้น!


จุดเริ่มต้นจากเด็กชายธรรมดาสู่การเรียนด้านคอมพิวเตอร์

หม่า ฮั่วเถิง เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1971 ที่เมืองไหหลำ ประเทศจีน ตอนเด็ก ๆ เขามีพ่อทำอาชีพผู้จัดการท่าเรือ ซึ่งไม่ได้ร่ำรวยอะไร เขาเองก็ใช้ชีวิตแบบเด็กปกติจนเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ณ มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น และจบการศึกษาปริญญาตรีในปี 1993 เมื่อเรียนจบได้เริ่มต้นเข้าทำงานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาให้กับ บริษัท China Motion Telecom Development


ความฝันเล็ก ๆ เพื่อก่อตั้งธุรกิจของตนเอง

เมื่อทำงานมาได้สักพักเขาเองก็เริ่มมีแนวคิดอยากจัดตั้งบริษัทเป็นของตนเอง กระทั่งรวมตัวกับเพื่อน ๆ พร้อมก่อตั้ง Tencent ขึ้นมาในปี 1998 เวลาผ่านไป 1 ปี ทางบริษัทได้เปิดตัวบริการ QQ หรือที่คุ้นเคยกันคือ OICQ ในปัจจุบัน ลักษณะการทำงานดังกล่าวคือ แพลตฟอร์มสำหรับการพูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถตอบโต้ได้ทั้ง 2 ฝั่ง จากความแปลกใหม่ตรงนี้เอง ต่อมาแพลตฟอร์มของเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน กระทั่งมีบริษัทร่วมทุน 2 แห่ง จากต่างชาติสนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วน และในเดือนมิถุนายน ปี 2004 มีการรับเงินทุนเกือบ 200 ล้านดอลลาร์เพื่อให้บริษัทก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง


ความก้าวหน้าและความร่ำรวยที่ไม่สิ้นสุด

ภายใต้การนำของ หม่า ฮั่วเถิง บริษัท Tencent ได้มีการขยายกลุ่มบริการต่าง ๆ จำนวนมากเพื่อต้องการมอบในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "บริการไลฟ์สไตล์ออนไลน์" ให้กับผู้ใช้งาน ไม่ใช่แค่การส่งข้อความตอบโต้เท่านั้น แต่เขายังรวมเอาบรรดาเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ, ช่องทางสื่อสารออนไลน์, เกม ความบันเทิงด้านการแชทพูดคุยอื่น ๆ, สื่อสังคมออนไลน์, การโฆษณาออนไลน์ รวมถึงระบบชำระเงินออนไลน์เข้ามาดูแล


Tencent บริษัท Social Media ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
Tencent บริษัท Social Media ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ต้องยอมรับว่า Tencent มีอิทธิพลต่อตลาดออนไลน์ของจีนมาก ๆ โดยช่วงปลายปี 2015 QQ มีผู้ใช้งานราว 850 ล้านคน / เดือน ขณะที่ WeChat ซึ่งเป็นแอปฯ แชทสำหรับส่งข้อความพูดคุยผ่านมือถือซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 ก็มีผู้ใช้บริการราว 650 ล้านคน พวกเขาไม่ได้หยุดแค่นั้นและยังเดินหน้าต่อในการทำเครือข่าย Social Media ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่าง Qzone ซึ่งมีผู้ใช้บริการราว 650 ล้านคน / เดือน เมื่อปี 2015 เป็นรองเพียงแค่ Facebook และ YouTube เท่านั้น จากความสำเร็จดังกล่าวจึงไม่ต้องแปลกใจที่ หม่า จะกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีของเมืองจีนและระดับโลก

ปัจจุบัน Tencent คือหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเตอร์เน็ตของเมืองจีน พร้อมกันนี้ยังถูกจัดให้ติด


อันดับ 1 ด้านธุรกิจของใหญ่ที่สุดของประเทศตามมูลค่าตลาด ด้านแอปฯ อย่าง WeChat ซึ่งเป็นช่องทางส่งข้อความแบบรวดเร็ว มีผู้ใช้งานทั่วโลกไปแล้วกว่า 1 พันล้านราย

อุปนิสัยส่วนตัวที่ทำให้ หม่า ฮั่วเถิง ประสบความสำเร็จ

คนเราจะมีความเก่งในเรื่องทำงานอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ โดยเฉพาะกับชายที่ชื่อ หม่า ฮั่วเถิง จริงแล้วเขาเป็นคนเงียบ ๆ ชอบความสงบ ไม่ค่อยปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ มากนัก พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังมักยึดแนวทางที่ว่า “แนวคิดที่ดีไม่ได้สำคัญเสมอไปในเมืองจีน แต่การลงมือทำคือคำตอบ” และด้วยความที่เขาเป็นคนเรียบง่าย ใช้ชีวิตสบาย ๆ แบบนี้ บริษัทเองจึงมีแนวทางหลาย ๆ ด้านต่างจากคู่แข่งอย่าง Alibaba เพราะหนุ่มใหญ่คนนี้ยังคงวางแผนในอนาคต เพียงแค่เขาไม่ต้องการรีบออกปากให้ใครได้รู้ก็เท่านั้น

อย่างที่บอกว่าชายคนนี้ไม่หยุดพัฒนา จากเดิมที่เริ่มต้นด้วยการเปิดบริษัทไอที เขาได้เปลี่ยนมาเป็นการลงทุนกับหลาย ๆ อย่าง เพื่อลบจุดอ่อนบางประเด็นที่จะทำให้ Tencent เกิดความผิดพลาด เช่น ลงทุนใน JD.com (อี-คอมเมิร์ซ), Tesla (รถยนต์), HBO (Warner Bros.) และ Joox (ความบันเทิง) เป็นต้น


จากเรื่องราวที่พูดถึง “หม่า ฮั่วเถิง” ต้องยอมรับว่าเขาคือคนเก่งคนหนึ่งที่สามารถเดินหน้ามาได้ไกล ประกอบกับเป็นจังหวะดี ๆ ที่โลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในอนาคตคงต้องรอดูกันว่า Tencent จะพัฒนาสิ่งไหนออกมาให้ได้ทดลองใช้งานกันอีกหรือไม่

Basic Chinese Knowledge

Chinese Tourism

Kol influencer

China social media & online marketing

China ecommerce