องค์กรธุรกิจอเมริกัน ร่วมกันต่อต้านรัฐบาลสหรัฐฯ กรณีขึ้น กำแพงภาษี จากจีน
องค์กรธุรกิจอเมริกัน ร่วมกันต่อต้านรัฐบาล และทำประชาพิจารณ์คัดค้านรัฐบาลสหรัฐฯ กรณีรัฐบาลของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้น กำแพงภาษี สินค้าจากจีน
มีรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) ได้มีการทำประชาพิจารณ์ครั้งใหญ่ ในกรุงวอชิงตัน เป้าหมายเพื่อออกมาต่อต้านการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากจีนของรัฐบาลสหรัฐ มีมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 9.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้น และถูกต่อต้านจากองค์กรธุรกิจอเมริกัน
สำหรับการลงประชาพิจารณ์ดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งในเรื่องนี้ มีรายงานว่าทาง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะร่วมส่งผู้สังเกตการณ์เป็นจำนวนหลายร้อยคน
มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ว่า ส่วนมากจะคัดค้านการขึ้นกำแพงภาษีดังกล่าว โดยเหตุผลหลักคือ มันเป็นการแสดงถึงลัทธิกีดกันทางการค้า (protectionism) ซึ่งในภาพรวมแล้วไม่ได้ส่งผลดีต่อสหรัฐ แต่จะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทจำนวนมากในสหรัฐที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน
ทางด้าน นายเบรนต์ คลีฟแลนด์ ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมการค้าเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐ ได้เข้าร่วมในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของการทำประชาพิจารณ์ เขาได้กล่าวกับ USTR ในเรื่องที่ว่าภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวของสหรัฐได้ด้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่จีนมาตั้งแต่ยุค 1980 เช่นเดียวกับในอีกหลายอุตสาหกรรมที่ย้ายตามมา สาเหตุสำคัญเพราะแรงงานจีนมีราคาถูกกว่า ทำงานหนักและล่วงเวลาได้มากกว่า ที่สำคัญคือ แรงงานจีนมีแนวโน้มการพัฒนาในการทำงาน โดยเฉพาะในยุคนี้ แรงงานจีนมีความสามารถในการใช้เครื่องจักรที่ซับซ้อนได้ดีกว่าในสหรัฐ โดยมีค่าจ้างที่ถูกกว่า จึงเป็นการลดต้นทุนด้านแรงงานได้ ที่สำคัญคือ การย้ายฐานการผลิต เป็นการมองหาการเจาะตลาดในระดับโลกด้วย
จากเรื่องที่ทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ ด้านคลีฟแลนด์ได้แสดงความกังวลและเตือนว่า มันจะส่งผลต่อแรงงานในสหรัฐ โดยเฉพาะ Supply chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะมีผลทำให้แรงงานจำนวนมหาศาลต้องอยู่ในสภาวะ "ตกงาน" "ถูกเลิกจ้าง" และอาจจะทำให้บริษัทในสหรัฐฯหลายแห่งต้องปิดตัวลง เป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ตามมา
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็เคยออกมาประกาศว่า ต้องการให้บริษัทและภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐดึงฐานการผลิตกลับมาในประเทศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและการสร้างงานในสหรัฐ แต่หากเกิดขึ้นจริง สถานการณ์อาจจะเป็นตรงกันข้ามก็ได้
สำหรับผู้สังเกตการณ์จากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มของบริโภค อุปโภค ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์กีฬา เสื้อผ้า และรองเท้า
ด้านกำแพงภาษีศุลกากรที่สหรัฐขึ้นกับสินค้าจากจีนในเวลานี้ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.8 ล้านล้านบาท)
หลังจากนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทและสมาคมต่าง ๆ ในสหรัฐฯมากกว่า 600 แห่งก็ร่วมกันยื่นหนังสือต่อทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน เพื่อขอให้รัฐบาลหยุดยั้งความตึงเครียดกับจีน จากการขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้
“เราทราบได้แน่นอนเลยว่าภาษีที่จะขึ้น จะส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อภาคธุรกิจของชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรมในระดับครัวเรือน และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ” ในหนังสือยังกล่าวย้ำว่า “ภาษีศุลกากรนี้คือภาษีที่บริษัทในสหรัฐฯต้องเป็นผู้จ่ายโดยตรง” นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลต่อ การสูญเสียตำแหน่งงานในสหรัฐฯ กว่า 2 ล้านตำแหน่ง และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกเฉลี่ยที่ 4 คน ราว 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 62,000 บาท)
การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่บริษัทในสหรัฐให้การตื่นตัว และต้องการที่จะให้รัฐบาลพิจารณาและยับยั้งไม้ให้เกิดขึ้น
=========================================
#คิดถึงการตลาดจีน คิดถึง Level Up Thailand#
ต้องการตรวจความพร้อมก่อนบุกตลาดจีน สามารถอ่านบทความ
“ตรวจความพร้อมก่อนไปตลาดจีน” ได้ที่
หรือ อยากทราบภาพรวมของการตลาดออนไลน์จีนสามารถอ่านบทความ
“บุกตลาดจีนด้วยการตลาดออนไลน์จีน” ได้ที่
ต้องการคำปรึกษาหรือดูบริการแพ็คเกจบริการการตลาดจีนเริ่มต้นได้ที่
ทั้งนี้ถ้าต้องการให้เราเขียนเพิ่มเติมด้านไหนสามารถ Comment มาได้เลยนะครับ
Comments