top of page

บทความ

ความรู้ ข่าวสาร ที่นักธุรกิจต้องรู้

ส่งตรงจากจีน

โอกาสการลงทุนที่เมืองชินโจว เมื่อจีนไฟเขียว 'รังนกไทย' เข้าแดนมังกร


โอกาสการลงทุนที่เมืองชินโจว เมื่อจีนไฟเขียว 'รังนกไทย' เข้าแดนมังกร


โดย...ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

ความเชื่อตามศาสตร์แพทย์แผนจีนที่สืบทอดมายาวนานหลายพันปีที่ว่า 'รังนก' เป็นอาหารอายุวัฒนะจากธรรมชาติที่มีคุณค่าชั้นยอด การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ว่า 'รังนก' มีคุณประโยชน์ช่วยเสริมความงามของผิว ทำให้ชาวจีนมีความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์รังนก ซึ่งส่งผลให้สินค้าฟุ่มเฟือยชนิดนี้มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในตลาดผู้บริโภคชาวจีน

รู้หรือไม่ว่า...จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภครังนกมากที่สุดในโลก โดยกว่า 80% ของรังนกที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน

ที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการนำเข้ารังนกจาก 3 ประเทศหลัก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยมีสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน หรือ AQSIQ เป็นหน่วยงานหลักด้านการกำหนดนโยบายและการควบคุมตรวจสอบผลิตภัณฑ์รังนกที่นำเข้ามายังจีนแผ่นดินใหญ่ (พิกัดรังนก 0410001000)

สถานการณ์การนำเข้ารังนกในจีนเริ่มส่อแววไม่สดใส หลังจากที่เมื่อ 2554 ผลิตภัณฑ์รังนกทุกประเทศ รวมถึงรังนกไทย ถูกระงับการนำเข้าด้วยเหตุที่มีการตรวจพบสารไนไตรท์เกินมาตรฐาน (มากกว่า 30 ppm) ปนเปื้อนอยู่ในรังนกแดงจากมาเลเซีย

แต่ด้วยความพยายามของหน่วยงานภาครัฐไทยที่ร่วมกันผลักดันกับทางการฝ่ายจีนบนโต๊ะเจรจาในหลายต่อหลายเวทีตลอดช่วงที่ผ่านมา ในที่สุด...ทางการจีนยอมเปิดไฟเขียวให้ 'รังนกไทย' ได้กลับเข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกครั้ง

ท่านไม่ได้อ่านผิดครับ!!! 'รังนกไทย' สามารถส่งออกไปจีนได้แล้ว ตามประกาศของสำนักงาน AQSIQ ฉบับที่ 66 ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์รังนกของไทยได้ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป

การกลับมาของ 'รังนกไทย' ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมและศึกษากฎระเบียบการส่งออกรังนกมายังจีนให้ละเอียดถี่ถ้วน!!!

แม้ว่าสำนักงาน AQSIQ จะเปิดทางให้กับการนำเข้ารังนกจากไทยได้แล้วก็ตาม แต่สำนักงาน AQSIQ ได้มีการตั้งเงื่อนไขการนำเข้ารังนกไทยในระยะแรกอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะ 'รังนก(บริสุทธิ์)' ที่มีสีขาว สีเหลือง หรือสีทองเท่านั้น ส่วนรังนกแดง หรือบ้างก็เรียกว่า 'รังนกเลือด' ยังไม่ให้นำเข้าแต่อย่างใด โดยจีนขอพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน

ด้านแหล่งผลิตและแหล่งรวบรวมรังนกที่ส่งออกไปจีน ไม่ว่าจะเป็นรังนกบ้านหรือรังนกถ้ำ [1] จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์ของไทย มีระบบควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการด้านสุขอนามัย กระบวนการควบคุมและป้องกันโรคระบาด การตรวจสอบสิ่งปนเปื้อน และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Trace Back) ตั้งแต่แหล่งผลิตไปถึงการส่งออก เพื่อให้สามารถตรวจสอบแก้ไขได้ทันท่วงทีในกรณีที่เกิดปัญหาด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ในส่วนของผู้ประกอบการแปรรูปรังนกไทยจะต้องได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการ CNCA ของจีน [2] ซึ่งในขณะนี้ มีบริษัทผู้ส่งออกรังนกของไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 2 ราย และรังนกที่ส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการกำจัดขน ทำความสะอาด และมี 'ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์' จากกรมปศุสัตว์ รวมถึง'ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า' แนบไปกับการส่งออกในทุก shipment ที่จะส่งออกไปจีน

ในส่วนของ 'ฉลากและบรรจุภัณฑ์สินค้า' จะต้องมีรายละเอียดกำกับชัดเจนเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก ชื่อและเลขทะเบียนแหล่งผลิต ชื่อที่อยู่และเลขทะเบียนบริษัทแปรรูปรังนก วิธีการเก็บรักษา และวันเดือนปีที่ผลิต

จีนเป็นตลาดนำเข้ารังนกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปัจจุบัน รังนกเป็นสินค้าพรีเมียมที่การบริโภคไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหมู่ชนชั้นสูงในสังคมจีนเหมือนเช่นในอดีต พฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง และกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ จึงพูดได้ว่า 'โอกาสทอง' ของผลิตภัณฑ์รังนกไทยมาถึงแล้ว!!!

ชาวจีนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์รังนกเป็นอาหารเสริมบำรุงสุขภาพชั้นดีที่มีสรรพคุณครอบจักรวาล ผู้หญิงจีนนิยมบริโภครังนกเพื่อเสริมความงาม ชาวจีนนิยมนำรังนกไปเยี่ยมผู้ป่วย และซื้อไปเป็นของขวัญให้กับผู้ใหญ่ โดย 'รังนกไทย' มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสูงในตลาดจีน เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ โดยช่วงก่อนที่รังนกไทยจะถูกแบน จีนนำเข้ารังนกจากไทยตกกิโลกรัมละ 1.5-2 แสนบาท

เป็นที่คาดหมายว่า การที่รัฐบาลจีนเปิดไฟเขียวให้ 'รังนกไทย' กลับเข้าสู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกครั้งจะช่วยให้ภาคธุรกิจ 'รังนกไทย' ฟื้นตัว ราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น และช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาลอีกครั้ง

การที่ตลาดจีนมีแนวโน้มความต้องการบริโภครังนกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจรังนกเป็น ’เค้กก้อนโต' ที่ผู้ค้าจากหลายประเทศกำลังจ้องมองและอยากไขว่คว้าเอาไว้ในมือ

การดำเนินธุรกิจรังนกกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่ขอข้ามไปไม่พูดถึงธุรกิจการซื้อขายรังนกที่ทำกันอยู่ทั่วไปแล้ว การลงทุนในธุรกิจแปรรูปรังนกในจีนถือเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานรังนก

ขอเกริ่นก่อนว่า... นักลงทุน(ไทย)จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนะมุมมองที่มีต่อการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่เสียใหม่ ต้องลบภาพที่มองว่าจีนเป็น 'โรงงานโลก' ทิ้งไป เพราะขณะนี้ การลงทุนของต่างชาติในจีนไม่ใช่เพื่อต้องการอาศัยจีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่การลงทุนเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคชาวจีนในประเทศเป็นหลัก

การที่ประเทศจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน เพียงแค่ 10% ของประชากรจีนที่ซื้อผลิตภัณฑ์รังนกไทยก็เกือบ 140 ล้านคนไปแล้ว ซึ่งมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศถึงสองเท่า ตัวเลขดังกล่าวจึงพอที่จะสร้างแรงดึงดูดให้กับการลงทุนภาคการผลิตในจีนได้ไม่น้อย

ดังนั้น สำหรับผู้ที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในธุรกิจรังนกในประเทศจีน บอกเลยว่า 'เขตฯ กว่างซีจ้วง' ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ

ทำไมต้องกว่างซี??? ต้องยกนิ้วให้กับรัฐบาลกว่างซีที่ชิงผุดไอเดียการพัฒนาให้เมืองท่าชินโจว (Qinzhou City) เป็น 'ฐานการนำเข้ารังนก' โดยผูกโยงความเกี่ยวพันจากการที่เมืองชินโจวเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมระดับชาติจีน-มาเลย์ (แต่เปิดรับการลงทุนจากทุกประเทศ) กับการที่รัฐบาลสองประเทศร่วมลงนาม MOU เปิดทางให้รังนก(ดิบ)จากมาเลเซียเข้าสู่จีนได้ ช่วยเสริมน้ำหนักให้การเป็น 'ฐานการนำเข้ารังนก' ของเมืองชินโจว ฟังดูจะเหมาะสมเหนือเมืองแห่งอื่นในจีน

ปี 2559 รัฐบาลกว่างซีทุ่มเงินลงทุน 690 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง 'สวนอุตสาหกรรมการแปรรูปรังนก' แบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในประเทศ บนเนื้อที่ 33.3 ไร่ และกำหนดให้โครงการนี้เป็น key project ของนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลย์

นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซีกำลังเดินเกมรุกยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลกลางให้ท่าเรือชินโจวเป็น 'ด่านนำเข้ารังนกดิบ' [3] (designated port of raw bird's nest) เป็นแห่งแรกของประเทศ (มีข่าวว่าเมืองเซี่ยเหมินขอขึ้นสังเวียนช่วงชิงการเป็นด่านนำเข้ารังนกดิบอยู่ด้วย) ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร คาดว่าส่วนกลางจะอนุมัติในเวลาอันใกล้นี้

สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้มีฟังก์ชั่นครบครันทั้งการนำเข้า การตรวจสอบและกักกันโรค การแปรรูป การวิจัยและพัฒนา การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า การท่องเที่ยวและการซื้อขายรังนก รวมทั้ง Lab ตรวจสอบรังนกซึ่งสร้างเสร็จแล้ว

เมื่อ ส.ค.2560 กลุ่มบริษัท China First Heavy Industry (中一重工) เพิ่งชนะการประมูลโครงการก่อสร้าง 'สวนอุตสาหกรรมการแปรรูปรังนก' ภายใต้สัญญา EPC รับผิดชอบงานออกแบบ จัดซื้อ และรับเหมาก่อสร้าง หลัก ๆ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า และศูนย์แปรรูปรังนก มูลค่าสัญญาราว 299 ล้านหยวน เวลาการก่อสร้าง 1 ปี 11 เดือน

คาดว่าหลังเปิดดำเนินการ ผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรมจะมีการนำเข้ารังนกดิบปีละ 120 ตัน มีกำลังการผลิตรังนกแห้งปีละ 115 ตัน มูลค่าการผลิตปีละ 6 พันล้านหยวน

บทสรุป

แม้ว่า 'สวนอุตสาหกรรมการแปรรูปรังนก' จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่เขาเปิดรับนักลงทุนจากทั่วโลก โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวจีนกับชาวมาเลย์เท่านั้น

จึงกล่าวได้ว่า สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นแพลทฟอร์มการลงทุนของธุรกิจแปรรูปรังนกไทยที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรังนกไทยสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ง่ายมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากความได้เปรียบเชิงกายภาพจากการมีที่ตั้งใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน รวมถึงความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์แล้ว ประเด็นด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การใช้ที่ดินและอาคารโรงงาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกของภาครัฐล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในสวนอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น 'สวนอุตสาหกรรมการแปรรูปรังนก' เมืองชินโจวเปรียบเหมือน 'ขุมทอง' ของภาคธุรกิจรังนกไทยที่มองเห็นลู่ทางและมีความพร้อมสำหรับการ 'ก้าวออกไป' ลงทุนในแดนมังกร

******************************

[1] ปัจจุบัน นกนางแอ่นบ้านจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ผลผลิตที่ได้จึงใช้แค่การบริโภคภายในประเทศเท่านั้น (มีเพียงรังนกถ้ำเท่านั้นที่สามารถส่งออกไปจีนได้) อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกนางแอ่นประเทศไทยได้ทำหนังสือยื่นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ช่วยปลดล็อก นกนางแอ่นบ้านออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองให้สามารถเลี้ยงเพื่อเก็บเอารังนกดิบส่งออกได้เหมือนรังนกนางแอ่นถ้ำ

[2] คณะกรรมการกำกับการรับรองและอนุญาตเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งชาติจีน (CNCA- Certification and Accreditation Administration of the People’s Republic of China) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนผู้ผลิต(อาหาร)ในต่างประเทศที่ส่งออกมายังจีน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์รักนก แต่ไม่รวมถึง "รังนกดิบ" ที่ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าในขณะนี้

[3] การเปิดตลาดรังนกดิบ (raw bird's nest) หรือบ้างก็เรียก 'รังนกขน' ของรัฐบาลจีน ด้วยเหตุผลจากความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและการเจือปนของสารที่เป็นพิษต่อร่างกายถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้ทางการจีนยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้ารังนกดิบที่เข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ารังนกดิบเข้ามาในจีนแผ่นดินใหญ่ ยกเว้นมาเลเซีย โดยรัฐบาลสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม'พิธีสารรังนกดิบ' ที่กรุงปักกิ่งไปเมื่อเดือน พ.ย.2559

พิธีสารฯ ดังกล่าวถือเป็น 'ใบเบิกทาง' ให้รังนกดิบจากมาเลเซียบุกเข้าตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อย่างถูกกฎหมายเป็นชาติแรกในโลก อย่างไรก็ดี กระบวนการนำเข้าต้องอยู่ในบริบทที่ต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มงวดจากฝ่ายจีนก่อน ซึ่งแม้ว่าจะมีการลงนามพิธีสารฯ ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง โดยสองฝ่ายกำลังเจรจาข้อตกลงในรายละเอียด

ปรับปรุงล่าสุด : 09 ตุลาคม 2560

โดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

ขอบคุณ: www.thaibizchina.com

Basic Chinese Knowledge

Chinese Tourism

Kol influencer

China social media & online marketing

China ecommerce

บทความแนะนำ

บริการของเรา

bottom of page