4 เทรนด์ขายของออนไลน์จีน 2021
ในภาวะวิกฤติโควิด-19 การจะวางแผนบุกตลาดจีน ขายของให้คนจีน ต้องยอมรับว่าถ้าเราไม่ใช่แพลทฟอร์มออนไลน์ก็ทำได้ยาก แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากใน 2 ปีนี้ มีบางเทรนด์ที่เราต้องอัพเดทกันครับ มาลองดูว่ามีอะไรบ้าง ขายหลายแพลทฟอร์มย่อมดีกว่า คนจีนมีการใช้งานหลายแพลทฟอร์ม ดังนั้นหากทำการตลาดออกไปในหลายช่องทางย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าใช้เพียงช่องทางเดียว อย่างไรก็ตามคนจีนยุคนี้นับว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคและ User ที่มีความกระตือรือร้นในการใช้งานโซเชียลมีเดียและการอัพเดทความนิยมในการใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีข้อมูลเพิ่มอีกว่าคนจีนหนึ่งคนในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานมากกว่า 1-3 แพลทฟอร์มขึ้นไป นี่จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย ตัวอย่างเช่น การใช้ช่องทางอย่าง Weibo แล้วลิ้งก์เข้ากับ WeChat account ของแบรนด์นั้น ๆ โดยตรง เพื่อแชร์ Content ซึ่งผู้ใช้งาน Weibo ก็เปรียบได้กับผู้ใช้งาน Twitter+Facebook สำหรับคนจีน ในขณะที่ WeChat จะเป็นการทำตลาดออนไลน์ทางตรง คล้ายกับ Line ซึ่งในแง่ของโซเชียลมีเดียแล้ว Weibo มีการขับเคลื่อนในแง่ของ Content ที่มีความบันเทิงมากกว่า และยังสร้างให้เกิดการรับรู้ได้ดี แต่นั่นแปลว่า Content จะต้องออกแบบมาให้เน้นความน่าตื่นเต้น รับรู้ได้อย่างง่าย ๆ ในขณะที่ WeChat เป็นแพลทฟอร์มใหญ่ที่สุดของจีนที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่งมีการรวมทุก Content เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ เสียง เป็นต้น แต่สำหรับ WeChat การมองเห็นจะมีความเจาะจงมากกว่า ไม่เหมือนกับ Weibo ที่เป็นตัวดึงคนเข้ามาติดตาม เป็นต้น หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเช่น การใช้แพลทฟอร์ม Xiaohongshu ที่จับตลาดเฉพาะกลุ่มมากกว่า และเน้นการรีวิวสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ความงาม สกินแคร์ แนววัยรุ่น เป็นต้น สร้าง Content ที่ต้องเจาะและเข้าถึงคนจีนได้ การทำคอนเทนต์เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องอัพเดทให้เข้ากับเทรนด์หรือกระแสของคนจีนด้วยครับ เพราะมันจะมีบางประเด็นหรือบางหัวข้อที่กำลังเป็นที่นิยมในคนจีน เช่น รูปแบบของการ์ตูนกราฟฟิก ซึ่งนิยมกันมากขึ้นในเว็บ Baidu และ Tmall ซึ่งเราพบว่ามีอยู่หลายแบรนด์ที่ใส่รูปภาพและโลโก้เข้ามาด้วย ดังนั้นการทำคอนเทนต์ตรงนี้ถ้าเราสามารถทำได้ดี ก็ย่อมมีแนวโน้มที่ ภาพ หรือคลิปวิดีโอ จะถูกแชร์ไปจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสได้เลยครับ แต่ก็ต้องเข้าใจสไตล์ของคนจีนแต่ละกลุ่มด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญคือ ต้องสื่อสารเป็นภาษาจีนด้วย แต่ตรงนี้ก็มีข้อควรระวัง เช่น การทำ Content ที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องเชื้อชาติ การเมือง อาจจะถูกแบนได้ง่าย ๆ เหมือนกรณีของแบรนด์ D&G ที่ไปล้อเลียนเรื่องการใช้ตะเกียบทานเบอร์เกอร์ หรือเรื่องที่ Versace ทำเสื้อขายในจีน แล้วเขียนชื่อฮ่องกงเป็นประเทศ ซึ่งทั้งสองแบรนด์ ไม่ได้ออกมาแสดงความขอโทษหรือมีปฏิกิริยาในเชิงบวกตั้งแต่แรก ผลคือจะออกมาแสดงความเสียใจภายหลังก็สายเกินไปแล้ว แล้วก็อาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะฟื้นฟูชื่อเสียงของแบรนด์ให้กลับมาในจีนได้ ความสำคัญของ Key Opinion Leader (KOL) รู้กันมานานแล้วว่า การใช้ KOL มาช่วยในการทำตลาดออนไลน์ นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการทำตลาดในจีน เพราะคนจีนมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและให้ความสนใจ KOL อย่างมาก แต่นั่นแปลว่าคุณก็ต้องเลือกให้เข้ากับผลิตภัณฑ์และแบรนด์เหมือนกันครับ ปัจจุบัน มีข้อมูลว่า จีนเป็นประเทศที่ใช้ศิลปิน ดารา เซเล็บ สำหรับการทำโฆษณา เป็นมูลค่าสูงอันดับ 2-3 ในเอเชีย ซึ่งความนิยมของ KOL สามารถประเมินได้จากหลายแง่มุม ถ้าเป็นเซเล็บ ซุปเปอร์สตาร์ สามารถดูได้จากจำนวนผู้ติดตามบน Weibo แต่ถ้าเป็น KOL ที่เฉพาะกลุ่ม จะไม่สามารถใช้ช่องทางนี้วัดได้ แต่อาจดูจากการรีวิวของพวกเขาหรือพวกเธอผ่านแพลทฟอร์มต่าง ๆ มีกรณีตัวอย่างของ นักรีวิวบางคนที่สามารถทำให้เกิดผู้ติดตามบนแพลทฟอร์มที่ตนเชี่ยวชาญ แล้วนำไปสู่ยอดขายได้มหาศาล เช่น Viya ที่ทำรีวิวสินค้าบน Taobao Live ในวันคนโสด 11.11 แล้วมีผู้ติดตามจำนวนมหาศาล ก็จะเน้นที่กลุ่มสินค้าประเภท เครื่องสำอาง และสกินแคร์เป็นหลัก แต่ละแพลทฟอร์ม ต่างพื้นที่ ความนิยมต่างกันไป เนื่องจากประเทศจีนไม่ใช่ตลาดเดียวไปหมดทุกเมืองและทุกมณฑล ดังนั้นแปลว่าแพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมในเมืองใหญ่ ๆ เช่นที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว แต่อาจจะมีแพลทฟอร์มอื่นที่ได้รับความนิยมมากกว่าในเมืองขนาดรอง ๆ ลงมาก็ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้งาน Pinguoguo ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซที่เน้นกลุ่มลูกค้าในเมืองระดับรองของจีน รวมถึงสินค้าราคาถูก ไปจนถึงการใช้กลยุทธ์เน้นทำโปรโมชั่นและส่วนลด ก็จะได้รับความนิยมสำหรับเมืองขนาดรองมากกว่านั่นเอง ดังนั้นจะใช้แพลทฟอร์มไหน ต้องเลือกให้ดี และไม่ใช้แค่ช่องทางเดียว แต่ควรใช้หลายช่องทางผสมผสานกันด้วยครับ