ปรับ-เปลี่ยนทุนนิยมในจีน

ดูการกระดิกพลิกตัวของรัฐบาลจีน จะเห็นว่ามีความเข้มขึ้น หลายเรื่อง คนที่เคยร่ำรวยจากตลาดหลักทรัพย์ของจีนอย่างง่ายดาย อนาคตก็อาจจะรวยได้ยากขึ้น ตลาดภาพยนตร์ที่ทำเงินให้กับผู้สร้างและดาราจนกลายเป็นเศรษฐีภายในข้ามคืน

ตั้งแต่นี้ไปก็คงจะทำไม่ได้เหมือนเดิม พวกเกมออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนต้องใช้เวลากับหน้าจอวันละหลายชั่วโมงก็คงจะถูกจำกัดเวลาการเล่นจากทางราชการ หรือแม้แต่โรงเรียนกวดวิชา ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

20 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมจีนมีลักษณะคล้ายกับทุนนิยมตะวันตกมากขึ้น มีระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น ผู้คนแสวงหาความสะดวกสบาย รัฐบาลจีน มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชน

จีนมีระบบการเมืองแบบศูนย์รวมอำนาจ มีสถาบันการเมืองหลัก 3 สถาบัน คือ “สถาบันพรรค” ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และความมั่นคง “สถาบันรัฐ” หมายถึงรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่งและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นในมณฑล ทำหน้าที่นำนโยบายที่พรรคกำหนดไปบริหารให้ประสบความสำเร็จ และ “สถาบันกองทัพ” หมายถึงกองทัพปลดแอกประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตย+บูรณภาพแห่งดินแดน+ปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์

เคยมีคนถามว่า สถาบันไหนของจีนมีอำนาจมากที่สุด ผมขอตอบว่า “สถาบันพรรค” ครับ สถาบันพรรคควบคุมสถาบันรัฐและสถาบันกองทัพ อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน แต่พรรคต้องควบคุมกองทัพ

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หากินบนแผ่นดินจีนและสร้างตัวเองจนร่ำรวยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แทนที่จะอยู่ช่วยกันพัฒนาประเทศ กลับนำเงินที่ได้ไปฝากไว้ในต่างประเทศ ได้โอกาสก็โอนสัญชาติ ที่ฮิตที่สุดก็คือโอนไปถือสัญชาติแคนาดา สิงคโปร์ อังกฤษ ฯลฯ สิ่งที่ทิ้งไว้ในแผ่นดินจีนก็คือซากปรักหักพังของวัตถุนิยมซึ่งขัดกับความเชื่อของพรรค

การปล่อยให้พลเมืองไหลไปกับทุนนิยมเสรีเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้เศรษฐกิจจีนพุ่งขึ้น จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่กลับขาดสังคมที่มีคุณลักษณะแบบจีนลงไปทุกวัน

เราคงต้องดูแนวโน้มของรัฐบาลจีนว่าตั้งแต่ พ.ศ.2565 เป็นต้นไป ว่าจะกวดขันสังคมเข้มข้นกว่าเดิมมากขึ้นขนาดไหน การที่รัฐบาลจีนหันมาเข้มงวดกวดขันกับประชาชน อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่ขัดแย้งกับรัฐบาล คนรุ่นปัจจุบันเติบโตมาในสังคมทุนนิยม เมื่อถูกบังคับให้กลับไปสู่สังคมแบบสังคมนิยมรวมศูนย์แบบเดิมก็อาจจะต่อต้านก็ได้

ที่มา ไทยรัฐ